ที่พระนารายณ์  หรือแหล่งโบราณคดีที่พระนารายณ์ ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำตะกั่วป่าตรงข้ามกับแหล่งโบราณคดีเขาพระนารายณ์  (อยู่ทางทิศเหนือของแหล่งโบราณคดีเขาพระนารายณ์)  ปัจจุบันเป็นเขตพื้นที่การปกครองหมู่ที่ 2 ตำบลเหล  อำเภอกะปง  จังหวัดพังงา      มีพื้นที่ประมาณ  22  ไร่       ห่างจากถนนสาย  401    ตะกั่วป่า – สุราษฎร์ธานี  ระหว่างกิโลเมตรที่  132 – 133  ประมาณ  50 เมตร

        ที่พระนารายณ์  หรือแหล่งโบราณคดีที่พระนารายณ์ ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำตะกั่วป่าตรงข้ามกับแหล่งโบราณคดีเขาพระนารายณ์  (อยู่ทางทิศเหนือของแหล่งโบราณคดีเขาพระนารายณ์)  ปัจจุบันเป็นเขตพื้นที่การปกครองหมู่ที่ 2 ตำบลเหล  อำเภอกะปง  จังหวัดพังงา      มีพื้นที่ประมาณ  22  ไร่       ห่างจากถนนสาย  401    ตะกั่วป่า – สุราษฎร์ธานี  ระหว่างกิโลเมตรที่  132 – 133  ประมาณ  50 เมตร แหล่งโบราณคดีที่พระนารายณ์แห่งนี้  เดิมเคยเป็นที่ประดิษฐานของเทวรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์ 3 องค์ คือพระนารายณ์  และเทพบริวารอีก 2 องค์ คือฤๅษีมารกัณเฑยะ  ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าพระลักษมณ์องค์หนึ่ง  และนางภูเทวี  ที่ชาวบ้านเรียกว่า  นางสีดา   อีกองค์หนึ่ง   รวมทั้งศิลาจารึกหลักที่  26   (ศิลาจารึกเขาพระนารายณ์)   มีเรื่องเล่าว่าในปี พ.ศ. 2328    คราวสงครามเก้าทัพ  พม่าได้ไปพบพระนารายณ์และเทพบริวารบนเขาพระนารายณ์  จึงขนย้ายลงมาเพื่อจะนำไปยังเมืองพม่า  แต่เกิดเหตุอัศจรรย์ทำให้พม่าไม่สามารถนำไปได้  จึงยกเทวรูปทั้ง 3  องค์ มาวางพิงต้นตะแบกไว้  จนกระทั่งตนไม้ขึ้นหุ้มเทวรูปจนเกือบมิด     ชาวบ้านจึงเรียกที่ตรงนี้ว่า  “ที่พระนารายณ์”



         พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร  ได้เสด็จไปทอดพระเนตรเทวรูปพระนารายณ์และเทพบริวาร  เมื่อวันที่  22 เมษายน  ร.ศ. 128  (พ.ศ. 2452)  และทรงบันทึกไว้ว่า   


        “สิ่งสำคัญที่เสด็จไปทอดพระเนตรวันนี้  คือพระนารายณ์ เทวรูป  ซึ่งตั้งอยู่บนเนินที่ทำพลับพลาประทับร้อน เทวรูปมีอยู่  3 องค์  เป็นรูปพระนารายณ์ตั้งอยู่กลาง  ข้างขวามือมีเป็นรูปเทพธิดานั่ง  ซึ่งบางทีจะเป็นพระลักษมีข้างซ้ายมือมีอีรูปหนึ่ง  แปลไม่ออกว่าเป็นรูปพระเป็นองค์เจ้าใด  เทวรูปทั้ง 3 นี้ทำด้วยศิลา  สลักเครื่องทรงดูเป็นอย่างแบบข้างอินเดียแท้ จึงเข้าใจว่าคงจะเป็นนายช่างข้างฝ่ายมัชฌิมประเทศเป็นผู้ทำ  หรืออย่างน้อยก็เป็นผู้ให้อย่าง  เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่าชาวมัชฌิมประเทศได้ออกมาตั้งเป็นคณะอยู่ที่นี้  จะสืบเอาเรื่องราวก็ไม่ได้กี่มากน้อย  คงได้ความแต่ว่าเทวรูปนี้เดิมอยู่บนเขาเวียง บนนั้นยังมีฐานก่อด้วยอิฐปรากฏอยู่  ครั้นพม่ามาตีเมืองไทยได้ลงมาที่เขาเวียง  ยกเทวรูปลงมาได้ถึงที่เนินนี้  ตั้งใจจะนำลงไปทางแม่น้ำ   เผอิญเกิดฝนตกลงมาเป็นห่าใหญ่  พม่าจึงต้องทิ้งเทวรูปไว้  หนีเอาตัวรอด  และโดยเหตุที่พม่าได้ให้หลังที่ตรงนี้  จึงได้เรียกนามตำบลว่าหลังพม่าต่อมา  รูปพระนารายณ์ในเวลานี้ต้นตะแบกได้ขึ้นหุ้มห่อไว้เสียหน่อยหนึ่ง  ชะรอยจะมีผู้พิงทิ้งไว้กับต้นตะแบกตั้งแต่ยังอ่อน ๆ  ครั้นต้นไม้นั้นโตขึ้นจึงเลยขึ้นหุ้มเทวรูป  น่าเสียดายที่สืบข้อความสาวขึ้นไปได้สั้นนัก   ที่ริมรูปนั้นมีศิลาแผ่นหนึ่งมีตัวอักษรจารึก  แต่อ่านไม่ออกว่าเป็นหนังสืออะไร  ไม่ใช่หนังสือไทย  และไม่ใช่หนังสืออย่างที่จารึกคาถาเยธัมมาที่พระปฐมเจดีย์  ศิลาแผ่นนี้ราษฎรถือกันว่าถ้ายกฝนเป็นต้องตก  วันนี้คงจะมีใครยกเป็นแน่ เพราะพอเสด็จถึงพลับพลาสักครู่หนึ่งฝนก็ตก  อยู่ข้างจะศักดิ์สิทธิ์อยู่บ้าง  แต่เพราะไม่มีใครได้พยายามจะยกพระนารายณ์ไป  ฝนจึงไม่ตกจนน้ำท่วมอย่างครั้งพม่ายก”
        ในระหว่างที่มีการตัดถนนสาย  401  ตะกั่วป่า – สุราษฎร์ธานี  ซึ่งผ่านเข้าไปใกล้บริเวณที่ประดิษฐานของเทวรูปพระนารายณ์มาก  ทำให้คนต่างถิ่นพบเห็นมากขึ้น  จนกระทั่งในวันที่ 28  มีนาคม 2509   ได้มีคนร้ายลักลอบเอาเทวรูปนางภูเทวี  (นางสีดา)ไป  และต่อมาในวันที่  14  เมษายน  ปีเดียวกัน  คนร้ายได้สกัดเอาเศียรพระลักษมณ์และพระพักตร์พระนารายณ์ไปอีก  ทางจังหวัดพังงาจึงรายงานให้กรมศิลปากรรับทราบ    และวันที่  9  สิงหาคม  2509    เจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรที่ 8     จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้นำเทวรูปพระนารายณ์  พระลักษมณ์ และศิลาจารึกไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช อยู่ระยะหนึ่ง  และปัจจุบันได้ย้ายไปจัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง  ภูเก็ต


        สำหรับเทวรูปที่เรียกว่านางสีดาที่คนร้ายลักขโมยไปนั้น  ปรากฏว่าคนร้ายได้เอาไปสกัดเอาเฉพาะพระพักตร์ไป แล้วทิ้งทั้งองค์ไว้ที่หนองน้ำ บางพระนารายณ์ ห่างออกมาจากที่พระนารายณ์ประมาณ 50 เมตร  ต่อมาในหน้าแล้งชาวบ้านได้ไปหาปลาพบ  เมื่อเดือนมีนาคม  2510  จึงนำไปเก็บไว้ที่วัดนารายณิการาม  ตำบลเหล  อำเภอกะปง  จนบัดนี้
        ในเดือนกรกฎาคม  2516  กรมศิลปากรได้ติดต่อขอรับชิ้นส่วนพระพักตร์นางสีดา  จากกรุงลอนดอน  ประเทศอังกฤษ 
 
เทวรูปพระนารายณ์ เทพบริวาร และศิลาจารึก
        เทวรูปพระนารายณ์และเทพบริวาร  เป็นประติมากรรมที่สร้างขึ้นตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์   1 ใน 3 องค์ ที่เรียกว่า  “ตรีมูรติ”  คือเทพเจ้า 3 องค์อันได้แก่  พระพรหม  เชื่อว่าเป็นผู้สร้างมนุษย์และสรรพสิ่งในโลก  พระวิษณุหรือพระนารายณ์ เป็นผู้ทำหน้าที่รักษาโลก ชาวฮินดูนิกายไวษณวะ ยกย่องว่าพระนารายณ์เป็นเทพเจ้าที่ยิ่งใหญ่กว่าเทพทั้งปวง และพระศิวะหรือพระอิศวร เป็นเทพเจ้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของผู้นับถือนิกายไศว เทวรูปพระนารายณ์และเทพบริวารที่เขาพระนารายณ์  ในอำเภอกะปงนี้ เป็นลักษณะศิลปะของอินเดียตอนใต้ในสมัยที่ราชวงศ์ปัลลวะปกครอง  จึงเรียกชื่อศิลปะนี้ว่า ศิลปะแบบปัลลวะ  สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณตอนปลายพุทธศตวรรษที่  13  หรือต้นพุทธศตวรรษที่  14        จากผลการทดสอบทางธรณีวิทยา (โดยอาจารย์ศรีโสภา มาระเนตร กรมทรัพยากรธรณี)   พบว่าเทวรูปทั้ง 3 องค์ แกะสลักจากหินtuffacous  sandstone   หรือหินทรายละเอียดเกิดจากหินเถ้าภูเขาไฟ  ไม่ใช่ทำจากหินชีสต์ตามที่เข้าใจกันมาก่อน  หินชนิดนี้มีอยู่ในบริเวณอำเภอกะปง และมีร่องรอยการสกัดหินมาแกะสลัก   เทวรูปทั้ง  3 องค์นี้สร้างขึ้นประจำชุมชนโบราณ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเขาพระนารายณ์นี้  ส่วนแผ่นหินที่จารึกเป็นภาษาทมิฬนั้นเป็นหินดินดาน (shale)
       แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ชาวอินเดียทางตอนใต้ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานและเผยแพร่อารยธรรมในบริเวณนี้มาเป็นเวลาช้านานแล้ว  รวมทั้งใช้เป็นเส้นทางลัดข้ามแหลมมลายู  โดยใช้แม่น้ำตะกั่วป่า และคลองสก
 
เทวรูปพระนารายณ์
           เทวรูปพระนารายณ์   คือพระวิษณุปางมัธยมโยคะสถานกมูรติ  (ปางบำเพ็ญโยคะ)   4 กร  ประทับยืน  เป็นประติมากรรมลอยตัว   ขนาดสูง  235 กว้าง  85  เซนติเมตร   หนา  25  เซนติเมตร    ลักษณะ  พระวรกายสมส่วน  บั้นพระองค์คอด  พระโสภีพาย  พระพักตร์สี่เหลี่ยม  พระเนตรมองตรง  พระนาสิกใหญ่  พระโอษฐ์หนา  พระหัตถ์ขวาหลังหักหายไป   พระหัตถ์ขวาหน้าแสดงปางประทานอภัย  พระหัตถ์ซ้ายหลังหักหายไป  พระหัตถ์ซ้ายหน้าทรงท้าวที่พระโสณี ทรงสวมกีรีฏมุกุฏทรงสูงสอบเข้าทางด้านบนประดับด้วยลายวงแหวน  ทรงพระภูษาโจงกรอมข้อพระบาทจีบเป็นริ้วและขมวดเป็นปมชักชายขึ้นด้านบน และคาดรัดประคตซึ่งตกแต่งด้วยสายลูกประคำทับ คาดผ้าคาดพระโสณีตามแนวนอนซึ่งผูกเป็นโบที่พระปรัศว์แล้วคาดผ้ารูปโค้งที่ต้นพระเพลา ตกแต่งพระวรกายด้วยกรองศอ พวงประคำ พาหุรัด ทองพระกร และพระธำมรงค์  พร้อมกับทรงคาดสายยัชโญปวีตทับสายอุทรพันธะ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ  ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เล่มที่  52  ตอนที่  75  วันที่  8  มีนาคม  2478



 
เทวรูปฤๅษีมารกัณเฑยะ
        ฤๅษีมารกัณเฑยะ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า พระลักษมณ์  เป็นประติมากรรมลอยตัว  ในลักษณะประทับนั่งคุกเข่าขวา ชันเข่าซ้าย  ยกพระหัตถ์ซ้ายระดับพระเศียร  พระหัตถ์ขวาลดมาทับพระโสณี  ทรงสวมกีรีฏมุกุฏทรงสูงสอบเข้าทางด้านบนประดับด้วยลายวงแหวนเหมือนเทวรูปพระนารายณ์ ขนาดสูง125 เซนติเมตร 
กว้าง  77 เซนติเมตร   หนา  25  เซนติเมตร   กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ   ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เล่มที่ 52  ตอนที่  75  วันที่  8  มีนาคม  2478 



เทวรูปนางภูเทวี  
        นางภูเทวี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า  นางสีดา  นางภูเทวีทรงเป็นพระชายาองค์หนึ่งของพระวิษณุทรงเป็นเทพีแห่งปฐพีเป็นผู้ดูแลให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ เป็นเทวรูปสตรีประทับนั่งคุกเข้าซ้ายชันเข่าขวาในลักษณะท่าทางตรงกันข้ามกับเทวรูปฤษีมารกัณเฑยะ ทรงสวมกรัณฑมุกุฎ เป็นประติมากรรมลอยตัว  ขนาดความสูง  115  เซนติเมตร    หนา 75 เซนติเมตรชาวบ้านเล่าว่าครั้งหนึ่งช้างป่าตกมันใช้งาแทงที่พระถันด้านซ้ายเทวรูปนางภูเทวีหักไป  เป็นเทวรูปใน กลุ่มนี้องค์เดียวที่ยังเก็บรักษาอยู่ท้องที่ อำเภอกะปง ที่วัดนารายณิการาม  ตำบลเหล อำเภอกะปง  จังหวัดพังงา    กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ   ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เล่มที่  52  ตอนที่  75  วันที่  8  มีนาคม  2478



 
 
 


ศิลาจารึกเขาพระนารายณ์ 
        ศิลาจารึกเขาพระนารายณ์  หรือศิลาจารึกหลักที่  26   มีขนาดกว้าง  55 เซนติเมตร  สูง  50 เซนติเมตร   ทำจากหินดินดาน  (shale)  สันนิษฐานว่าจารึกในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12 – 14     H.W.Bourke   เป็นคนแรกที่พบที่เขาพระนารายณ์  ใน พ.ศ. 2445  และพระสารศาสตร์พลขันธ์  (G.E. Gerini) ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ให้ชาวโลกรู้จักเป็นครั้งแรกในปี 2447  ศิลาจารึกหลักนี้จารึกเป็นภาษาทมิฬแบบโบราณจำนวน  6 บรรทัด  ศาสตราจารย์  Hultzsch  สามารถอ่านจารึกนี้ได้เป็นคนแรก ได้ดังนี้
 
      บรรทัดที่ 1       …รวรฺมนฺ  กุ (ณ)…
      บรรทัดที่ 2       (มา) า  นฺ  ตานฺ   นงฺคูร  ไฑ…
      บรรทัดที่ 3       (ตฺ)  โตฏฺฏ  กุฬมฺ  เปรฺ  ศฺรี  (อวนิ)
      บรรทัดที่ 4       นารณมฺ  มณิกฺ  กิรามตฺ  ตารฺ  (ก)
      บรรทัดที่ 5       (กุ)  มฺ  เศณามุคตฺตารฺกฺกุมฺ
      บรรทัดที่ 6       (มุฬุ)  ทารฺกฺกุมฺ  อไฑกฺ กลมฺ
      แปลความว่า      “สระชื่อ ศรี  (อวนิ)  นารณัม  ซึ่ง…….รวรรมัน  ศุ  (ณ) ….(ม)
                            าน  ได้ขุดเองใกล้  (เมือง)  นังคูร   อยู่ในการรักษาของสมาชิก
                         แห่งเมืองมณิคราม  และของกองหน้ากับชาวไร่ชาวนา” 


จากข้อความในศิลาจารึกพอสรุปได้ว่า  มีเจ้าเมืองคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวทมิฬฮินดูแห่งโจฬะอินเดียใต้  ได้มาตั้งเมืองแห่งหนึ่งขึ้น  ณ บริเวณเมืองตะกั่วป่าบัดนี้  ชื่อเมือง  “นังคูร”  ได้โปรดให้ขุดสระน้ำประจำเทวสถานขึ้น  เพื่อใช้ในพิธีพราหมณ์ตามธรรมเนียม  และให้อยู่ในความดูแลรักษาของบรรดาเหล่าทหาร  และราชวงศ์เครือญาติชาวทมิฬ ฮินดู  ตลอดจนชาวนาชาวไร่ทั่วไปที่ตั้งชุมชนอยู่เหล่านั้นเอง
        กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ   ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เล่มที่  52  ตอนที่  75  วันที่  8  มีนาคม 2478