ก่อนปีพศ. 2491 คลองย่านยาวหรือเรียกเป็นทางการว่าแม่น้ำตะกั่วป่านั้นได้กั้นหมู่บ้านโคกยางกับตลาดไว้

ก่อนปีพศ. 2491 คลองย่านยาวหรือเรียกเป็นทางการว่าแม่น้ำตะกั่วป่านั้นได้กั้นหมู่บ้านโคกยางกับตลาดไว้     บ้านโคกยางนั้นอยู่ตรงข้ามกับตลาดก็จริงแต่ชาวโคกยางเป็นคนไทยพื้นบ้าน มีอาชีพทำนา ส่วนคนในตลาดนั้นส่วนใหญ่แล้วเป็นคนจีนทำการค้าขายและบางส่วนก็เป็นข้าราชการ การสัญจรของผู้คนทางฝั่งตะวันออกข้ามมาตลาดหรือวัด หรือการมาติดต่อราชการต้องอาศัยเรือพายหรือเรือแจวเท่านั้น เด็กโคกยางก็ต้องเรียนที่รร.โคกยางจนจบป.4 แล้วถ้าจะเรียนต่อชั้นมัธยมก็ต้องข้ามฟากมาขึ้นรถที่หัวท่าแป๊ะตี่หรือหัวท่าศรีเมืองในปัจจุบัน บางคนก็มาทางวัดย่านยาว ออกมารอที่ปากตรอกวัด จากนั้นขึ้นรถสองแถวไปเรียนที่รร.ตะกั่วป่าเสนานุกูล (ตั้งอยูที่ตลาดเก่า ปัจจุบันคือรร.บ้านเสนารังสรรค์)จนจบม.6 สมัยนั้นมีคนเรียนกันไม่มาก ยิ่งเป็นเด็กบ้านนอกอย่างโคกยางแล้วหาคนไปเรียนยาก เพราะหนทางสุดแสนจะกันดาร ต้องตื่นแต่ตีห้า เิดินเท้าลุยโคลนผ่านทุ่งนามาถึงหัวท่า ลงเรือข้ามฟากไปขึ้นรถสองแถวนั่งไปตลาดเก่า เที่ยวกลับยิ่งแย่เพราะเหนื่อยและหิว บางครั้งน้ำลงแห้งต้องเข็นเรืออีกต่างหาก จึงมีคนจบก่อนหลักสูตรกันเป็นแถวๆ แต่ก็ยังมีจอมทรหดเรียนจบไปสองสามคนเท่าที่จำได้ก็มีคุณนฤมล จั่นสกุล (สกุลเดิม คงเทพ)คนหนึ่ง ท่านเรียนจบได้รับราชการ (ปัจจุบันเกษียณอายุแล้วแต่ยังแข็งแรงอยู่) อ้อ.ยังมีเรื่องน่าสนุกอีกเรื่องคือเรื่องสอบป.4 นักเรียนสมัยก่อนบังคับเรียนแค่ชั้นป.4 ทีนี้เวลาจะสอบปลายภาคเพื่อจบประโยคการศึกษาภาคบังคับทางการเขากำหนดให้ทุกโรงเรียนในตำบลบางนายสีต้องนำเด็กมาสอบไล่ที่รร.บ้านย่านยาว เด็กๆสนุกกันมากนอนไม่หลับเลยทีเดียว ตื่นแต่ไก่โห่หุงข้าว คดข้าวห่อกันทุกคน สุดท้ายเวลาเปิดกินเป็นไข่ทอดกันทุกคนเลยเพราะทำอย่างอื่นไม่ทัน(มันตื่นเต้น)

อ่านต่อฉบับหน้า