เขาพระนารายณ์เป็นเนินเขาเตี้ย ๆ ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำตะกั่วป่า ตรงบริเวณคลองกะปงบรรจบกับแม่น้ำตะกั่วป่า ทางทิศตะวันออกของคลองกะปง ฝั่งตรงกันข้ามกับแหล่งโบราณคดีที่พระนารายณ์ เป็นทางน้ำสามแพร่งขนาดใหญ่ ปัจจุบันเป็นเขตพื้นที่การปกครองหมู่ที่ 2 ตำบลเหล อำเภอกะปง จังหวัดพังงา พื้นที่ส่วนหนึ่งชาวบ้านได้บุกรุกเพื่อทำการเกษตร คงเหลือเป็นพื้นอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากรประมาณ 30 ไร่ เขาพระนารายณ์เป็นเนินเขาเตี้ย ๆ ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำตะกั่วป่า ตรงบริเวณคลองกะปงบรรจบกับแม่น้ำตะกั่วป่า ทางทิศตะวันออกของคลองกะปง ฝั่งตรงกันข้ามกับแหล่งโบราณคดีที่พระนารายณ์ เป็นทางน้ำสามแพร่งขนาดใหญ่ ปัจจุบันเป็นเขตพื้นที่การปกครองหมู่ที่ 2 ตำบลเหล อำเภอกะปง จังหวัดพังงา พื้นที่ส่วนหนึ่งชาวบ้านได้บุกรุกเพื่อทำการเกษตร คงเหลือเป็นพื้นอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากรประมาณ 30 ไร่ จากการสำรวจของกองโบราณคดีในปี 2525 – 2528 พบเศษภาชนะดินเผาเคลือบ เนื้อแกร่ง ประติมากรรมในพระพุทธศาสนา เช่น พระพิมพ์ รวมทั้งซากสถาปัตยกรรมโบราณที่คงเหลือแต่ซากอิฐ ทั้งหมดอยู่ในสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ถึงสมัยประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณคดีเขาพระนารายณ์แห่งนี้ เดิมเคยเป็นที่ประดิษฐานของเทวรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์คือพระนารายณ์และเทพบริวาร 2 องค์ รวมทั้งศิลาจารึกเขาพระนารายณ์ (จารึกหลักที่ 26 ) มีเรื่องเล่ากันมาว่า ในปี พ.ศ. 2328 สมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งสงครามเก้าทัพ ทัพของพม่าส่วนหนึ่งได้ยกมาตีได้เมืองตะกั่วป่า และไล่ติดตามผู้คนที่อพยพหนีภัยขึ้นไปตามลำแม่น้ำตะกั่วป่า จนได้พบเทวรูปพระนารายณ์และเทพบริวารทั้ง 2 องค์บนเขาพระนารายณ์ จึงได้ขนย้ายเทวรูปทั้ง 3 องค์ลงเรือเพื่อจะนำกลับไปเมืองพม่า แต่เกิดเหตุอัศจรรย์มีพายุฟ้าคะนอง ฝนตกหนักน้ำป่าไหลหลาก พวกพม่าเห็นเป็นเรื่องผิดปกติและเกรงกลัวในความศักดิ์สิทธ์ จึงทิ้งเทวรูปทั้ง 3 องค์ พิงต้นตะแบกไว้ที่ฝั่งตรงกันข้ามกับเขาพระนารายณ์ (ทางทิศเหนือของเขาพระนารายณ์) ฝนฟ้าจึงหยุด พม่าก็ถอยทัพกลับได้ ส่วนศิลาจารึกนั้นยังคงอยู่บนเขาพระนารายณ์โดยไม่มีใครสนใจ จนกระทั่งในปี 2445 H.W. Bourke เจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาในกรมราชโลหะกิจของไทย (กรมทรัพยากรธรณี) ได้ขึ้นไปพบจึงรายงานให้พระสารศาสตร์พลขันธ์ (G.E.Gerini) ทราบ ท่านจึงได้ตีพิมพ์เรื่องราวของศิลาจารึกนี้ในจดหมายเหตุของสโมสรรอแยลเอเชียติก เป็นการเปิดเผยให้นักปราชญ์ทางโบราณคดีทั่วโลกได้รับทราบเป็นครั้งแรก ต่อมาได้มีผู้นำไปเก็บรักษาไว้ที่วัดหน้าเมือง (วัดประทุมคงคา) ชุมชนตลาดเก่า เขตเทศบาลเมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา อยู่ระยะหนึ่ง แล้วจึงนำกลับไปรวมไว้กับเทวรูปทั้ง 3 องค์ บนยอดเนินเขาพระนารายณ์พบแท่นฐานอิฐซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปทั้ง 3 องค์ เป็นแนวฐานอิฐขนาดกว้าง 5.00 เมตร ยาว 5.20 เมตร สันนิษฐานว่าส่วนบนของฐานอิฐเป็นสถาปัตยกรรมซึ่งเป็นไม้ จึงผุผังไป การเข้าถึงแหล่งโบราณคดีเขาพระนารายณ์ เริ่มเดินทางจากอำเภอตะกั่วป่าไปตามถนนสาย 401 ตะกั่วป่า –สุราษฎร์ธานี ประมาณ 17 กิโลเมตร ระหว่างกิโลเมตรที่ 132 – 133 เลี้ยวขวาเข้าถนนลูกรังประมาณ 50 เมตร ถึงแหล่งโบราณคดีที่พระนารายณ์ ชายฝั่งแม่น้ำตะกั่วป่า ข้ามแม่น้ำตะกั่วป่ากว้างประมาณ 20 เมตร (ปัจจุบันตื้นเขินมาก หน้าแล้งสามารถเดินข้ามไปได้) จะถึงแหล่งโบราณคดีเขาพระนารายณ์ จากการขุดแต่งโบราณสถานบนเขาพระนารายณ์ ในความรับผิดชอบของสำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสภาวัฒนธรรมจังหวัดพังงา ได้พบหลักฐานหลายอย่างที่น่าสนใจ