อำเภอตะกั่วป่า         ปัจจุบันอำเภอตะกั่วป่าเป็นหนึ่งใน  8  อำเภอของจังหวัดพังงา  ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลอันดามัน  ห่างจากอำเภอเมืองพังงาไปทางเหนือประมาณ  60  กิโลเมตร  มีเนื้อที่ประมาณ  475  ตารางกิโลเมตร  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาเตี้ย ๆ สลับซับซ้อน  ไม่ค่อยมีที่ราบ  แม่น้ำที่สำคัญคือแม่น้ำตะกั่วป่าซึ่งเกิดจากเทือกเขาในอำเภอกะปง   ตะกั่วป่าได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ  ทำให้มีฝนตกชุกเกือบตลอดทั้งปี  จึงได้สมญานามว่า “เมืองฝนแปด แดดสี่”    อาชีพที่สำคัญคือการเกษตร ปัจจุบันกำลังพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

          ตะกั่วป่าเคยเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยโบราณ ไม่ต่ำกว่า  2,000  ปี   เนื่องจากบทบาทของพ่อค้าชาวอินเดียที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานและพัฒนาเป็นเมืองท่า  ศูนย์กลางการค้าขาย  แลกเปลี่ยนสินค้ากับชนหลายเชื้อชาติ  เช่น  จีน  อินเดีย  เปอร์เซีย และกรีก  เป็นต้น  จนเป็นที่กล่าวขานว่าเป็นเส้นทางสายไหมทางทะเล  หรือเมืองท่าการค้าโบราณ 

 

          ถึงแม้ตะกั่วป่าจะเคยเป็นดินแดนที่เคยมีความเจริญรุ่งเรือง  มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน มีหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากมาย  แต่ยังไม่มีท่านใด  ได้สำรวจ ศึกษา ค้นคว้าอย่างจริงจัง  จึงทำตะกั่วป่าไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายของชาวโลกเท่าที่ควร  วันนี้อาจารย์วิมล  โสภารัตน์  ผู้สนใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น  จะเล่าสู่กันฟังถึงร่องรอย  อดีต บางส่วนของตะกั่วป่า  หากท่านมีข้อมูลหรือความคิดเห็นประการใดกรุณาติดต่อที่  [email protected]  หรือ  www.kuapa.com  จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

 

            อำเภอตะกั่วป่า         ปัจจุบันอำเภอตะกั่วป่าเป็นหนึ่งใน  8  อำเภอของจังหวัดพังงา  ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลอันดามัน  ห่างจากอำเภอเมืองพังงาไปทางเหนือประมาณ  60  กิโลเมตร  มีเนื้อที่ประมาณ  475  ตารางกิโลเมตร  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาเตี้ย ๆ สลับซับซ้อน  ไม่ค่อยมีที่ราบ  แม่น้ำที่สำคัญคือแม่น้ำตะกั่วป่าซึ่งเกิดจากเทือกเขาในอำเภอกะปง   ตะกั่วป่าได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ  ทำให้มีฝนตกชุกเกือบตลอดทั้งปี  จึงได้สมญานามว่า “เมืองฝนแปด แดดสี่”    อาชีพที่สำคัญคือการเกษตร ปัจจุบันกำลังพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

          ตะกั่วป่าเคยเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยโบราณ ไม่ต่ำกว่า  2,000  ปี   เนื่องจากบทบาทของพ่อค้าชาวอินเดียที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานและพัฒนาเป็นเมืองท่า  ศูนย์กลางการค้าขาย  แลกเปลี่ยนสินค้ากับชนหลายเชื้อชาติ  เช่น  จีน  อินเดีย  เปอร์เซีย และกรีก  เป็นต้น  จนเป็นที่กล่าวขานว่าเป็นเส้นทางสายไหมทางทะเล  หรือเมืองท่าการค้าโบราณ 

 

          ถึงแม้ตะกั่วป่าจะเคยเป็นดินแดนที่เคยมีความเจริญรุ่งเรือง  มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน มีหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากมาย  แต่ยังไม่มีท่านใด  ได้สำรวจ ศึกษา ค้นคว้าอย่างจริงจัง  จึงทำตะกั่วป่าไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายของชาวโลกเท่าที่ควร  วันนี้อาจารย์วิมล  โสภารัตน์  ผู้สนใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น  จะเล่าสู่กันฟังถึงร่องรอย  อดีต บางส่วนของตะกั่วป่า  หากท่านมีข้อมูลหรือความคิดเห็นประการใดกรุณาติดต่อที่  [email protected]  หรือ  www.kuapa.com  จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

ต้องการจะทราบคำว่า  ตะโกลา  (takola)  และ  ตะกั่วป่า  ?     

          ตะโกลา  (takola)   เป็นคำที่  คลอดิอัส  ปโตเลมี  (Claudius  Ptolemy)   นักปราชญ์ชาวกรีกบันทึกไว้ในหนังสือ  จดหมายเหตุภูมิศาสตร์ ปโตเลมี    เมื่อราว  พ.ศ. 693  หรือ 708  ตามคำบอกเล่าของพ่อค้าที่เดินทางมาค้าขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   ได้กล่าวถึงชื่อเมืองตะโกลา (takola)  ว่าเป็นเมืองท่า  ศูนย์กลางการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า  ตั้งอยู่ปากแม่น้ำ   เราเข้าใจว่าเมืองท่าที่ ปโตเลมี กล่าวถึง  น่าจะเป็นเมืองโบราณที่บ้านทุ่งตึก  หมู่ 3  ตำบลเกาะคอเขา  อำเภอตะกั่วป่า  จังหวัดพังงา  ในปัจจุบัน   เนื่องจากมีหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ปรากฏอย่างชัดเจน  เช่น ซากสถาปัตยกรรม  เศษเครื่องปั้นดินเผา  ลูกปัด  รูปเคารพในศาสนาพราหมณ์    รวมทั้งบันทึกของชาติต่าง ๆ ที่เข้ามาติดต่อค้าขาย

          ในทางประวัติศาสตร์  เชื่อกันว่าตลอดแนวลำแม่น้ำตะกั่วป่า  เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณตะกั่วป่า  ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณ  อย่างน้อยก่อนพุทธศตวรรษที่  7       ภายใต้อิทธิพลอารยธรรมอินเดียหรือศาสนาพราหมณ์  และใช้เมืองโบราณที่บ้านทุ่งตึก  ซึ่งอยู่ปากแม่น้ำตะกั่วป่าเป็นเมืองท่า  เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้า  ติดต่อค้าขายกับชนชาติต่าง ๆ  เช่น  จีน  อินเดีย  เปอร์เซีย  กรีก  เป็นต้น   เมืองตะโกลา ล่มสลายไปในราวพุทธศตวรรษที่  16    อาจเป็นเพราะถูกพวกทมิฬเข้าโจมตีหรือถูกคลื่นสึนามิพัดถล่มเมืองก็เป็นได้ 

            สำหรับ  ตะกั่วป่า  เป็นชื่อเรียกชุมชนที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่  ในราวพุทธศตวรรษที่  18     เป็นชุมชนของคนพื้นเมืองที่เป็นคนไทย  เป็นชุมชนขุดหาแร่ดีบุก    แล้วพัฒนาเป็นเมืองในเวลาต่อมา    ชุมชนลักษณะนี้เกิดขึ้นหลายแห่งในบริเวณที่มีแร่ดีบุกอุดมสมบูรณ์  เช่น  เมืองตะกั่วทุ่ง  (ที่ท้ายเหมือง)  เมืองถลาง  (ที่ อำเภอถลาง  ภูเก็ต)   การเรียกชื่อชุมชน  (เมือง)  เหล่านี้ก็เรียกตามชื่อแร่ดีบุกซึ่งคนในท้องถิ่นเรียกว่า ตะกั่ว  ซึ่งหมายถึงแร่ดีบุกที่ถลุงแล้ว  เช่น  ตะกั่วป่า  (คือดีบุก)   ในป่า    ตะกั่วทุ่ง  (คือดีบุก) ในท้องทุ่ง  ตะกั่วถลาง (คือดีบุก)  ที่ถลาง  เป็นต้น  จึงน่าจะเป็นไปได้ว่าชื่อ ตะกั่วป่า มาจากการเรียกชื่อแร่ดีบุก ที่คนในท้องถิ่นเรียกกัน  และไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับ “ตะโกลา”  แต่อย่างใด

ที่ทุ่งตึก  เกาะคอเขา  ตะกั่วป่า  มีลูกปัดดัง  ? 

            ลูกปัด  เป็นเครื่องประดับของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยโบราณ  ในยุคแรก ๆ  ทำจากเปลือกหอย  กระดูกสัตว์  ต่อมาจึงมีการประดิษฐ์จากหินสีและวัสดุอื่น ๆ เช่น  แก้ว  ทองคำ  หลากหลายสีและรูปแบบ  เพื่อความสวยงาม 

          สำหรับลูกปัดในแหล่งโบราณคดีทุ่งตึก  เกาะคอขา  ตะกั่วป่า  จังหวัดพังงานั้น    มีมากมายหลายชนิด หลากหลายทั้งสีและรูปแบบ  ถือเป็นโบราณวัตถุที่โดเด่นที่สุดของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้  แต่ปัจจุบันลูกปัดเหล่านี้อยู่ในความครอบครองของเอกชนเกือบทั้งหมด  ทั้งนี้เนื่องจาก  ในปี  2524เป็นต้นมา  ได้มีชาวบ้านในท้องถิ่นและที่มาจากต่างจังหวัด  ได้เข้าไปลักลอบขุดหาลูกปัดและของมีค่าอื่น ๆ  ยิ่งทำให้ลูกปัดของทุ่งตึกเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้นทั้งในหมู่คนไทยและชาวต่างประเทศ  โดยเฉพาะ    “ลูกปัดตาตะกั่วป่า”  หรือ  “ลูกยอ”   ถือว่าเป็นต้นตอของลูกปัดดังระดับโลก   ซึ่งขุดพบ ที่ทุ่งตึก   มากที่สุด   เป็นลูกปัดแก้วสีน้ำเงินหรือเขียวเข้มจนดำมืด  ขนาดเส้นผ่าศูนย์ราว  1  ซม.  บนผิวมีวงสีขาวซ้อนทับด้วยสีวงในสีน้ำเงิน  ทำให้ดูเหมือนมีตาเป็นชั้นตกแต่งไว้   และอีกชนิดหนึ่งคือ  “ลูกปัดแก้วลายเส้น”   เป็นลูกปัดที่หายากอีกชนิดหนึ่ง     มีลักษณะเป็นลายเส้นม้วนขดพับพันไปมา  เป็นลูกปัดที่สวยหายากและพบเพียงแห่งเดียวที่ทุ่งตึกเท่านั้น 

 

นี่คือความหลากหลายของลูกปัดจากทุ่งตึก  เกาะคอเขา  ตะกั่วป่า  ภาพทั้งหมดได้มาจากหนังสือ  “ทุ่งตึก เมืองท่าการค้าโบราณ”  ของสำนักศิลปากรที่ 15  ภูเก็ต  

เรื่องราวของพระนารายณ์  ตะกั่วป่า  ด้วยครับ  ? 

          พระนารายณ์เป็นมหาเทพ  ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์  1 ใน 3 องค์  ที่เรียกรวมกันว่า  “ตรีมูรติ”  อันประกอบด้วย  พระพรหมณ์     พระศิวะหรือพระอิศวร     และพระวิษณุหรือพระนารายณ์  ในนิกายไศวะ  เชื่อว่าพระศิวะเป็นเทพเจ้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุด  ส่วนนิกายไวษณวะ  ยกย่องว่าพระนารายณ์เป็นเทพเจ้าที่ยิ่งใหญ่กว่าเทพเจ้าทั้งปวง

          ในท้องที่อำเภอตะกั่วป่า  จังหวัดพังงา  เคยเป็นที่ประดิษฐานของเทวรูปพระนารายณ์ถึง  2  องค์คือ 

          – พระนารายณ์ที่เขาพระเหนอ  ที่ชาวบ้านเรียกว่า  “พระเหนอ”   เขาพระเหนอหรือควนพระเหนอ อยู่ในหมู่ที่  7  ตำบลบางนายสี  อำเภอตะกั่วป่า  เขตต่อกับตำบลบางบ่วง  เป็นเขาขนาดเล็กเตี้ยตั้งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำตะกั่วป่า  ตรงข้ามแหล่งโบราณคดีทุ่งตึก  มีลำคลองเล็กแยกจากแม่น้ำตะกั่วป่าเข้าไปเล็กน้อย  เข้าถึงได้เฉพาะทางเรือเท่านั้น 

พระเหนอเป็นพระนารายณ์แกะสลักจากหิน  เป็นประติมากรรมลอยตัว   ขนาดใหญ่  สูงราว  202  เซนติเมตร  เป็นศิลปปัลลวะ (อินเดียใต้)  ผศ.ดร. พิริยะ  ไกรฤกษ์  ได้บรรยายลักษณะไว้ว่า  มีลักษณะกล้ามเนื้อที่ล่ำสันแบบบุรุษ    ปฏิมากรรมชิ้นนี้  แสดงให้เห็นถึงจุดสุดยอดของความสำเร็จในการสร้างสรรค์ทางศิลปะของภาคใต้ในยุคนั้น        สร้างขึ้นราว พุทธศตวรรษที่  12 หรือ 13  อายุไม่ ต่ำกว่า  1,200 ถึง 1,300  ปีมาแล้ว   สมัยชุมชนโบราณตะกั่วป่า หรือตะโกลา  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  6   เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร  ได้เสด็จมาทอดพระเนตรพระเหนอ   เมื่อวันที่  23  เมษายน  รศ.128  (2452)  ได้ทรงบันทึกเกี่ยวกับพระเหนอไว้ว่า  “เทวรูปองค์นี้  ทำด้วยศิลาทราย  บัดนี้หักเสียเป็นสองท่อน  หักเฉพาะที่เอว  ถ้าไม่หักคงจะสูงราว  5  ศอก  เครื่องสนิมพิมพาภรณ์ไม่วิจิตรเหมือนองค์ที่เขาเวียง  แต่ฝีมือทำกล้ามเนื้อดีเหมือนคน  เทวรูปนี้ยืนอยู่กลางฐานใหญ่ก่อด้วยอิฐแผ่นใหญ่”

          ในปี  2470  สมเด็จกรมพระยาดำรงราฃานุภาพ  ให้นำไปเก็บรักษาไว้ที่กรุงเทพ  ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร    ในปี 2552  ได้มีการขุดค้น – ขุดแต่ง  โบราณสถานเขาพระเหนอ  ตามโครงการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งโบราณคดีเขาพระเหนอ

 

–  พระนารายณ์อีกองค์หนึ่ง  เป็นกลุ่มเทวรูป  ซึ่งประกอบด้วย  พระนารายณ์ เป็นประธาน  เทพบริวารอีก  2 องค์  คือฤษีมารกัณเฑยะ  (ชาวบ้านเรียกว่า พระลักษมณ์)    และนางภูเทวี (ชาวบ้านเรียกว่า นางสีดา)  รวมทั้งศิลาจารึกเขาพระนารายณ์  (ศิลาจารึกหลักที่  26) เป็นภาษาทมิฬ         เทวรูปกลุ่มนี้เดิมประดิษฐานอยู่บนเขาพระนารายณ์    เป็นเนินเขาเตี้ย ๆ       อยู่ทางตะวันออกของคลองกะปงตรงที่ไหลออกแม่น้ำตะกั่วป่า   อยู่ในหมู่ที่  2  ตำบลเหล  อำเภอกะปง  จังหวัดพังงา   ในปี 2328  คราวศึกเก้าทัพ  พม่าได้ขนย้ายเทวรูปทั้ง 3 องค์ลงมา  หวังจะเอาไปเมืองพม่า  แต่เกิดฝนตกหนัก  มีลมพายุ  น้ำป่าไหลหลาก   พม่าเห็นเรื่องผิดปกติและเกรงกลัวในความศักดิ์สิทธิ์  จึงนำเอาเทวรูปทั้ง 3 องค์  มาวางพิงต้นตะแบกทิ้งไว้  บนฝั่งตรงกันข้ามกับเขาพระนารายณ์  จนกระทั่งต้นตะแบกโตหุ้มองค์เทวรูปจนเกือบมิดองค์  และดินทรายจากแม่น้ำก็ทับถมสูงขึ้นมาทุกปี 


        ในปี 2509  คนร้ายได้เข้ามาทำลายและขโมยบางส่วนของเทวรูปไป  กรมศิลปากรจึงนำเทวรูปที่เหลืออยู่คือพระนารายณ์ และพระลักษณมณ์ไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  นครศรีธรรมราช   ปัจจุบันได้ย้ายมาจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง  ภูเก็ต   ประกอบด้วย พระนารายณ์  พระลักษมณ์และศิลาจารึก   สำหรับนางสีดา  จัดแสดงอยู่ที่วัดนารายณิการาม   อำเภอกะปง

พระนารายณ์  เป็นพระวิษณุปางมัธยมโยคะสถานกมูรติ (ปางบำเพ็ญโยคะ)  4 กร ประทับยืน  เป็นประติมากรรมลอยตัว  แกะสลักจากหินทรายละเอียด (tuffacous  sandstone)    ขนาดสูง  235 เซนติเมตร  กว้าง  85 เซนติเมตร  หนา  25  เซนติเมตร


 เทวรูปฤษีมารกัณเฑยะ  หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า พระลักษมณ์  เป็นประติมากรรมลอยตัว  ในลักษณะประทับนั่งคุกเข่าขวา  ชันเข่าซ้าย  ยกพระหัตถ์ซ้ายระดับพระเศียร  พระหัตถ์ขวาลดมาทับพระโสณี  ทรงสวมกีรีฏมุกุฏทรงสูงสอบเข้าทางด้านบนประดับด้วยลายวงแหวนเหมือนเทวรูปพระนารายณ์   ขนาดสูง  125 เซนติเมตร   กว้าง  77 เซนติเมตร   หนา  25  เซนติเมตร

 เทวรูปนางภูเทวี   หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า  นางสีดา  นางภูเทวีทรงเป็นพระชายาองค์หนึ่งของพระวิษณุทรงเป็นเทพีแห่งปฐพีเป็นผู้ดูแลให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ เป็นเทวรูปสตรีประทับนั่งคุกเข้าซ้ายชันเข่าขวาในลักษณะท่าทางตรงกันข้ามกับเทวรูปฤษีมารกัณเฑยะ ทรงสวมกรัณฑมุกุฎ เป็นประติมากรรมลอยตัว  ขนาดความสูง  115  เซนติเมตร    หนา 75  เซนติเมตรชาวบ้านเล่าว่าครั้งหนึ่งช้างป่าตกมันใช้งาแทงที่พระถันด้านซ้ายเทวรูปนางภูเทวีหักไป  เป็นเทวรูปใน กลุ่มนี้องค์เดียวที่ยังเก็บรักษาอยู่ท้องที่ อำเภอกะปง ที่วัดนารายณิการาม  ตำบลเหล อำเภอกะปง  จังหวัดพังงา

ศิลาจารึกเขาพระนารายณ์   เป็นศิลาจารึกหลักที่  26   มีขนาดกว้าง  55 เซนติเมตร  สูง  50 เซนติเมตร   ทำจากหินดินดาน  (shale)  สันนิษฐานว่าจารึกในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12 – 14     H.W.Bourke   เป็นคนแรกที่พบที่เขาพระนารายณ์  ใน พ.ศ. 2445  และพระสารศาสตร์พลขันธ์  (G.E. Gerini) ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ให้ชาวโลกรู้จักเป็นครั้งแรกในปี  2447  ศิลาจารึกหลักนี้จารึกเป็นภาษาทมิฬแบบโบราณจำนวน  6 บรรทัด  ศาสตราจารย์  Hultzsch  สามารถอ่านจารึกนี้ได้เป็นคนแรก ได้ดังนี้

      บรรทัดที่ 1       …รวรฺมนฺ  กุ (ณ)… 

      บรรทัดที่ 2       (มา) า  นฺ  ตานฺ   นงฺคูร  ไฑ… 

      บรรทัดที่ 3       (ตฺ)  โตฏฺฏ  กุฬมฺ  เปรฺ  ศฺรี  (อวนิ) 

      บรรทัดที่ 4       นารณมฺ  มณิกฺ  กิรามตฺ  ตารฺ  (ก) 

      บรรทัดที่ 5       (กุ)  มฺ  เศณามุคตฺตารฺกฺกุมฺ 

      บรรทัดที่ 6       (มุฬุ)  ทารฺกฺกุมฺ  อไฑกฺ กลมฺ 

      แปลความว่า      “สระชื่อ ศรี  (อวนิ)  นารณัม  ซึ่ง…….รวรรมัน  ศุ  (ณ) ….

                         (ม) าน  ได้ขุดเองใกล้  (เมือง)  นังคูร   อยู่ในการรักษาของ 

                          สมาชิกแห่งเมืองมณิคราม  และของกองหน้ากับชาวไร่ชาวนา”  

 

ศิลาจารึกเขาพระนารายณ์ (จารึกหลักที่ 26) 

 

       จากข้อความในศิลาจารึกพอสรุปได้ว่า  มีเจ้าเมืองคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวทมิฬฮินดูแห่งโจฬะอินเดียใต้  ได้มาตั้งเมืองห่งหนึ่งขึ้น  ณ บริเวณเมืองตะกั่วป่าบัดนี้  ชื่อเมือง  “นังคูร”  ได้โปรดให้ขุดสระน้ำประจำเทวสถานขึ้น  เพื่อใช้ในพิธีพราหมณ์ตามธรรมเนียม  และให้อยู่ในความดูแลรักษาของบรรดาเหล่าทหาร  และราชวงศ์เครือญาติชาวทมิฬ ฮินดู  ตลอดจนชาวนาชาวไร่ทั่วไปที่ตั้งชุมชนอยู่เหล่านั้นเอง

            โบราณวัตถุกลุ่มนี้ทั้งหมด กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ   ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เล่มที่  52  ตอนที่  75  วันที่  8  มีนาคม  2478  

 

โดย อาจารย์ วิมล โสภารัตน์