ชื่อ “ตะกั่วป่า” มีความเป็นมาอย่างไร ยังไม่มีข้อยุติ ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีความเป็นมาอย่างไร เพียงแต่มีนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีหลายท่านได้สันนิษฐานและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับชื่อ “ตะกั่วป่า” ไว้อย่างน่ารับฟัง จึงขอสรุปแนวคิดของนักวิชาการบางท่านดังนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ได้กล่าวถึงประวัติของเมืองตะกั่วป่าไว้ในหนังสือสาส์นสมเด็จว่า “…เรื่องเมืองตะกั่วป่า มีปัญหาเป็นข้อต้นว่าเพราะเหตุใดจึงเรียกชื่อว่า “ตะกั่วป่า” คำเป็นภาษาไทยส่อว่าไทยขนานนามนั้น เมื่อได้ปกครอง (ภายหลั

ชื่อ “ตะกั่วป่า” มีความเป็นมาอย่างไร ยังไม่มีข้อยุติ ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีความเป็นมาอย่างไร เพียงแต่มีนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีหลายท่านได้สันนิษฐานและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับชื่อ “ตะกั่วป่า” ไว้อย่างน่ารับฟัง จึงขอสรุปแนวคิดของนักวิชาการบางท่านดังนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ได้กล่าวถึงประวัติของเมืองตะกั่วป่าไว้ในหนังสือสาส์นสมเด็จว่า “…เรื่องเมืองตะกั่วป่า มีปัญหาเป็นข้อต้นว่าเพราะเหตุใดจึงเรียกชื่อว่า “ตะกั่วป่า” คำเป็นภาษาไทยส่อว่าไทยขนานนามนั้น เมื่อได้ปกครอง (ภายหลัง พ.ศ. 1800) แต่เอาอะไรเป็นนิมิตที่ให้เรียกว่าเมืองตะกั่วป่า จะว่าเพราะเป็นทำเลที่มีตะกั่วอยู่ในป่ามาก คู่กับเมืองตะกั่วทุ่งอันมีตะกั่วอยู่ในท้องทุ่งมากหรือก็เห็นว่ามิใช่…บางทีเมืองตะกั่วป่า จะมีชื่อเสียงเรียกคล้าย ๆ กับตะกั่วป่าอยู่ก่อน เมื่อไทยลงไปปกครองเรียกชื่อนั้นแปร่งตามสำเนียงไทย จึงกลายเป็น “ตะกั่วป่า” ตามสะดวกปาก ก็เลยเรียกตามกันสืบมา…” พระสารสาสน์พลขันธ์ (G.E. Gerini) สันนิษฐานว่า “ตักโกลา” เป็นคำเดียวกันกับ กาฬะ (Kala) ในภาษาสันสกฤต ซึ่งหมายความว่า “ดำ” เป็นชื่อเดียวกับ Kalah ตามจดหมายเหตุอาหรับ (Abu Zaid) ซึ่งคำว่า “ตะกั่วป่า” หรือ “ตะกั่ว” กับคำว่า “ตะโก” น่าจะมีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตว่า กาละ (Kala) …และน่าจะหมายถึงดีบุกซึ่งเป็นสินแร่ที่มีมากในตะกั่วป่า…” สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กล่าวว่า “…ชื่อ “ตะกั่วป่า” น่าจะมาจากความหมายของสถานที่มีทรัพยากรทางแร่ดีบุกมาก โดยชาวท้องถิ่นเรียกชื่อแร่ที่เป็นดีบุกหรือลักษณะบางประการคล้ายดีบุกว่า “ตะกั่ว”…” ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับชื่อเมืองตะกั่วป่าดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น พอจะสรุปได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก เชื่อว่า “ตะกั่วป่า” เพี้ยนมาจากคำว่า “ตะโกลา” ซึ่งเป็นคำภาษาในอินเดีย อีกกลุ่มหนึ่งมีความเห็นว่า น่าจะมาจากการที่คนในท้องถิ่นเรียกแร่ดีบุกที่ถลุงแล้วว่า “ตะกั่ว” ผสมกับคำว่า ป่า คือตะกั่ว (ดีบุก) ที่อยู่ในป่า ซึ่งคู่กับอีกเมืองหนึ่งคือ ตะกั่วทุ่ง หมายถึง ตะกั่ว (ดีบุก) ที่อยู่ในท้องทุ่งเพราะเป็นคำภาษาไทย อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณา ชุมชนโบราณตะกั่วป่า จากแหล่งโบราณคดีบ้านทุ่งตึก (ปลายคลองเหมืองทอง) ซึ่งเป็นชุมชนของชาวอินเดียที่อพยพเข้ามาเมื่อประมาณ 2,000 กว่าปีมาแล้ว ต่อมาได้พัฒนาเป็นเมืองท่าและศูนย์กลางการค้าขาย เป็นที่รู้จักกันดีของชนหลายเชื้อชาติในนามของเมืองท่า “ตะโกลา” เมืองตะโกลาแห่งนี้ได้ถูกพวกโจฬะทมิฬ เข้าโจมตีเสียหายยับเยิน ผู้คนอพยพทิ้งเมืองไปจนกลายเป็นเมืองร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 16 เข้าใจว่าชื่อเมืองตะโกลาคงหายไปพร้อมกับเมืองที่ร้าง จนกระทั่งในราวพุทธศตวรรษที่ 18 จึงเกิดชุมชนใหม่ขึ้นในบริเวณลุ่มแม่น้ำตะกั่วป่าอีกครั้ง เป็นชุมชนของคนพื้นเมืองที่เป็นคนไทย เป็นชุมชนขุดหาแร่ดีบุก ชุมชนลักษณะนี้ก็เกิดขึ้นหลายแห่งในบริเวณที่มีแร่ดีบุกอุดมสมบูรณ์ เช่น เมืองตะกั่วทุ่ง (ที่ท้ายเหมือง) เมืองถลาง (ที่ อำเภอถลาง ภูเก็ต) การเรียกชื่อชุมชน (เมือง) เหล่านี้ก็เรียกตามชื่อแร่ดีบุกที่คนในท้องถิ่นเรียกว่า ตะกั่ว ซึ่งหมายถึงแร่ดีบุกที่ถลุงแล้ว เช่น ตะกั่วป่า (คือดีบุก) ในป่า ตะกั่วทุ่ง (คือดีบุก) ในท้องทุ่ง ตะกั่วถลาง (คือดีบุก) ที่ถลาง เป็นต้น จึงน่าจะเป็นไปได้ว่าชื่อ ตะกั่วป่า คงมาจากการเรียกชื่อแร่ดีบุก ที่คนในท้องถิ่นเรียกกัน และไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับ “ตะโกลา” แต่อย่างใด