ที่มา: หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์
ที่มา: หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์
จากกระทู้ ไทยอาสาขนดินถมที่สิงคโปร์ ของคุณ thacity ในเว็บบอร์ด อีกครั้งผมเองก็ไปพบใน dailynews.co.th เลยอยากนำมาเสนอให้อ่านกันครับ
แค่ ‘แก้น้ำท่วม’ ชัวร์
การเสนอโครงการ “ขุดทราย-ลอกแม่น้ำตะกั่วป่า” ที่ จ.พังงา ด้วยเหตุผลเรื่องการ “แก้ปัญหาน้ำท่วม” ท่ามกลางมุมมองที่แตกเป็น 2 ฝ่าย “เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย” เป็นอีกหนึ่งโครงการไม่เล็กที่ต้องติดตามว่าที่สุดแล้วจะมีบทสรุปอย่างไร ?? ซึ่งยิ่งมีประเด็นการจะนำทรายที่ขุดลอกส่งไปที่ประเทศสิงคโปร์…ก็ยิ่งต้องจับตา
ฝ่ายที่จะดำเนินการก็พยายามชี้ว่าทำถูกต้องเหมาะสม
แต่อีกด้าน-อีกมุมมองในพื้นที่ก็ยังมีประเด็นเป็นห่วง !!
“ตะกั่วป่า” เป็นอีกหนึ่งเมืองเก่าแก่-มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ขณะที่ “แม่น้ำตะกั่วป่า” ก็มีเรื่องราว-มีความสำคัญมาอย่างยาวนานเช่นกัน ทั้งนี้ จากยุคอดีตที่เคยเป็นแม่น้ำ-เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญ พอถึงยุคที่ในพื้นที่มีการทำเหมืองแร่ดีบุกจำนวนมาก ก็ส่งผลให้มี “ทราย” จำนวนมหาศาลไหลลงสู่แม่น้ำตะกั่วป่า เกิดการทับถมต่อเนื่องเป็นเวลาช้านาน จนที่สุดก็ทำให้แม่น้ำและลำคลองบริเวณนี้ตื้นเขินเป็นระยะทางยาว
ข้อมูลจากปากคนเก่าคนแก่ในพื้นที่ อ.ตะกั่วป่ามีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม ในอดีตเรื่องการวางระบบผังเมืองไม่ค่อยมีการพูดถึงหรือทำให้เป็นจริงเป็นจัง ซึ่งย้อนไปในอดีตตั้งแต่กว่า 100 ปีก่อนแล้ว ภาพที่ชินตาของคนในพื้นที่นี้คือ “น้ำท่วมตะกั่วป่าทุกปี” ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ ถ้าปีไหนน้ำไม่ท่วมนั่นแหละถือว่าผิดปกติ
“สมัยก่อน น้ำท่วมแต่ละปีชาวบ้านส่วนใหญ่เขาจะรู้กันล่วงหน้าด้วยความเคยชินและสัญชาตญาณ มดขนไข่ คนก็เริ่มขนของ นี่เป็นเรื่องปกติ เป็นความปกติของชาวบ้านที่นี่ในอดีต”
อย่างไรก็ตาม ในยุคต่อ ๆ มา ด้วยการขยายตัวของชุมชน และการบุกรุกทำลายธรรมชาติ น้ำที่เคยท่วมแบบปกติ ก็กลายเป็นท่วมแบบไม่ปกติ ชาวบ้านในพื้นที่เดือดร้อนจากน้ำท่วมหนักขึ้นเรื่อย ๆ
จนวันหนึ่งก็มีการจุดพลุโครงการขุดลอกทรายจากปากคลองน้ำเค็ม เรื่อยมาที่ปากคลองบางม่วง คลองบ้านท่าจูด ถึงโชคชัย และปากอ่าวแม่น้ำตะกั่วป่า จนถึง ต.บางนายสี หลัง อ.ตะกั่วป่า โดย เอกชนจะดำเนินการให้ โดยทางราชการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ แต่มีข้อแม้ว่า ทรายที่ดูดขึ้นมาจะขนเอาไปถมที่ในต่างประเทศ ซึ่งเห็นว่าจะเป็นประเทศสิงคโปร์ โดยจะมีทรายถึงประมาณ 21 ล้านคิวบิกเมตร ใช้เวลาดำเนินการราว ๆ 5 ปี
ทั้งนี้ เรื่องน้ำท่วมมาก และการที่ทางราชการต้องดำเนินการแก้ไข-ป้องกันปัญหานั้น ก็ไม่มีใครปฏิเสธ ไม่มีใครที่ไม่เห็นด้วย เพียงแต่กับการดำเนินการโดยโครงการขุดลอกทรายที่ว่านี้ มีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยกังขา-เป็นห่วง
ชาวบ้านที่ติดใจ-ที่กังวลใจกับโครงการนี้ มองว่า… พื้นที่บริเวณดังกล่าวนี้มีทรัพย์ในดินสินในน้ำมากมาย มีสินแร่ต่าง ๆ ทั้ง ดีบุก วุลแฟรม แทนทาลั่ม และน่าจะมี สายแร่ทองคำ และ แหล่งเพชร นอกจากนี้ยังมี เครื่องถม ลูกปัด ของมีค่าโบราณ จมอยู่ในแม่น้ำ จากการที่เรือบรรทุกสินค้าในอดีตจมลงในแม่น้ำ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ชาวบ้านยังพบ ปืนใหญ่โบราณ ที่จมอยู่ใต้น้ำมาหลายร้อยปี ถ้ามีการขุดลอกแม่น้ำ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะยังไง ??
และกับทรายที่จะขุดลอกขึ้นมา แล้วจะมีการนำออกไปต่างประเทศ ชาวบ้านที่ติดใจ-กังวลใจ ก็ยังสงสัยว่า… ตัวอย่างทรายที่ฝ่ายที่จะดำเนินการบอกว่ามีปริมาณซิลิกาออกไซด์ร้อยละ 73.75 ไม่เกินร้อยละ 75 จึงสามารถส่งออกทรายไปนอกราชอาณาจักรได้ ไม่ขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้น เป็นการนำทรายจากบริเวณจุดไหนไปพิสูจน์ ? และถึงจะอย่างไรค่าที่มีการระบุนั้นก็ใกล้เคียงกับค่าที่ห้ามนำออกนอกประเทศมาก
ที่สำคัญ ทราย หรือทรัพย์สินที่จมอยู่ในแหล่งน้ำ ถือว่าเป็น “สมบัติของชาติ” จึงไม่ควรที่จะนำออกนอกประเทศไปอย่างง่ายดาย หรือถูกทำลาย-ถูกใครบางคนนำไปครอบครองส่วนตัว
นอกจากนี้ ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยยังกังวลว่า… การขุดลอกทรายจากแม่น้ำและคลองในบริเวณนี้ ซึ่งต้องใช้เรือดูด-อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง อาจจะทำให้ระบบนิเวศวิทยาเสียหาย โดยเฉพาะอาจทำให้ “ป่าชายเลน” ที่คงความอุดมสมบูรณ์มาเนิ่นนานหลายชั่วอายุคนเสียหาย ซึ่งจะเป็นการทำลายทั้งแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำซึ่งเท่ากับทำลายอาชีพประมงของคนในพื้นที่ และยังทำลายกันชนภัยธรรมชาติ-ภัยสึนามิด้วย
“จะมีวาระซ่อนเร้น หรือลับลวงพรางอะไรหรือไม่ ? เชื่อว่าของฟรีไม่มีในโลก เป็นธรรมดาของการลงทุนไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ต่างก็ต้องหวังผลตอบแทนทั้งนั้น” ..เป็นเสียงหนึ่งจากชาวบ้านฝ่ายที่ยังกังขา
พร้อม ๆ กับเสียงเรียกร้องที่ว่า… “การจะขุดทรายครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่ว่าจะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ แต่ประเทศชาติจะได้หรือเสียผลประโยชน์อะไร สมบัติชาติจะถูกใคร โดยเฉพาะต่างชาติ ฮุบไปหรือเปล่า ซึ่งชาวบ้านยังสงสัยว่าทำไมจึงต้องรีบเร่งกันนัก และไม่ผ่าน ประชาสังคม ประชาพิจารณ์ หรือทำประชามติอย่างจริงจัง ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ที่อาจได้รับผลกระทบทั้งหมดจะเห็นด้วยหรือไม่ การใช้คนไม่กี่คนมาตัดสินใจเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จึงขอให้หยุดก่อน แล้วให้ชาวบ้านตัดสินใจดีกว่า ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่ามีอะไรอีกหลายอย่างซ่อนอยู่มากกว่าที่คิด”
นี่ก็เป็นเสียงสะท้อน “เสียงปุจฉา” ของชาวบ้านในพื้นที่
“ขุดทรายแม่น้ำตะกั่วป่า” หากเหมาะสม-โปร่งใสชัวร์…
ก็ไม่เห็นต้องกลัวชาวบ้านซักฟอกให้เข้าใจก่อน ?!?!?.