ในราวพุทธศตวรรษที่  3   เป็นต้นมา  ชาวอินเดีย  เปอร์เชีย และอาหรับ   สามารถเดินเรือไปถึงเอเชียตะวันออก  อันได้แก่   จีน  ญวน  จามปา  เป็นต้น  ทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นจุดแวะพักเรือ  คาบสมุทรมลายูเป็นจุดที่เหมาะสม   เพราะอยู่ระหว่างทางพอดี    โดยเฉพาะตะกั่วป่า  เป็นจุดที่เหมาะสมที่สุด  ทั้งนี้เพราะมีปัจจัยอื่นเกื้อกูลอีกหลายประการ คือ

       ในราวพุทธศตวรรษที่  3   เป็นต้นมา  ชาวอินเดีย  เปอร์เชีย และอาหรับ   สามารถเดินเรือไปถึงเอเชียตะวันออก  อันได้แก่   จีน  ญวน  จามปา  เป็นต้น  ทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นจุดแวะพักเรือ  คาบสมุทรมลายูเป็นจุดที่เหมาะสม   เพราะอยู่ระหว่างทางพอดี    โดยเฉพาะตะกั่วป่า  เป็นจุดที่เหมาะสมที่สุด  ทั้งนี้เพราะมีปัจจัยอื่นเกื้อกูลอีกหลายประการ คือ

  1. ลมมรสุมพัดผ่าน  กล่าวคือ  ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้  พัดระหว่างเดือน พฤษภาคม  ถึงเดือนกันยายน  เป็นเวลาที่นักเดินเรือเดินทางจากตะวันตก เช่น อินเดีย อาหรับ  เข้ามาสู่ตะกั่วป่า  โดยอาศัยลมมรสุมนี้   และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ  พัดระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือน มีนาคม  นักเดินเรือก็สามารถอาศัยลมมรสุมนี้เดินทางกลับไปได้สะดวก
  2. มีเกาะจอดพักเรือหลบคลื่นลมได้ดี  บริเวณตะกั่วป่า  ตรงเกาะคอเขา  เรือสามารถเดินเข้าออกได้สะดวกทั้งทางตอนเหนือและตอนใต้ของเกาะ  เพราะมีร่องน้ำลึก
  3. เป็นเส้นทางลัดข้ามคาบสมุทรไปยังฝั่งทะเลตะวันออกได้สะดวกที่สุด  เนื่องจากตะกั่วป่า (เกาะคอเขา)  ตั้งอยู่ตรงปากแม่น้ำตะกั่วป่า ติดต่อกับโลกภายนอกได้สะดวก ใช้เป็นที่พักขนถ่ายสินค้า  และสามารถใช้แม่น้ำตะกั่วป่าลำเลียงสินค้าข้ามเขาสก  ไปลงแม่น้ำคีรีรัฐ ออกอ่าวบ้านดอนและเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือเดินทางต่อไปยังจีนต่อไป  (ต้นแม่น้ำตะกั่วป่ากับต้นแม่น้ำคีรีรัฐห่างกันเพียง  200 เส้น หรือ  ประมาณ  8 กิโลเมตรเท่านั้น  เส้นทางนี้ใช้กันมาจนกระทั่งมีการตัดถนนสายตะกั่วป่า – สุราษฎร์ธานี จึงเลิกใช้)
  4. มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและเป็นที่ต้องการของชาวตะวันตก คือ  แร่ดีบุก และเครื่องเทศ (ลูกกระวาน)
  5. ในสมัยแรก ๆ  เรือต้องอาศัยแรงลมไม่สามารถแล่นอ้อมแหลมมลายูได้  เพราะทางใต้ประมาณแลตติจูด  5  องศา  ลงไป   เป็นเขตลมสงบ  (Doldrum)

       ด้วยเหตุผลดังกล่าว    ตะกั่วป่าจึงเป็นจุดที่เหมาะสมที่สุดในการแวะพักเรือ  เพื่อรวบรวมและขนถ่ายสินค้า   เตรียมจัดหาเสบียงอาหารสำหรับเดินทางต่อไป    ซ่อมแซมเรือในระหว่างรอลมมรสุม   รวมทั้งเป็นเส้นทางลัดข้ามคาบสมุทรไปยังฝั่งทะเลตะวันออก  ตะกั่วป่าจึงพัฒนาเป็นเมืองท่าจอดเรือที่สำคัญ และเป็นที่รู้จักของชนชาติต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว