การตั้งหลักแหล่งของบรรพบุรุษในภาคใต้
ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณคาบสมุทรมลายูเล็กน้อย เพื่อจะได้ทราบถึงพัฒนาการของมนุษย์เป็นพื้นฐาน ก่อนที่จะถึงเรื่องราวของเมืองตะกั่วป่า หลักฐานทางโบราณคดีบนคาบสมุทรแห่งนี้ พอจะบอกเราได้อย่างกว้าง ๆ ว่า มนุษย์ในบริเวณคาบสมุทรมลายู มีชีวิตเร่ร่อนอยู่แล้ว ไม่ต่ำกว่า 5,000 ปีมาแล้ว ผู้คนเหล่านี้อาศัยอยู่ในถ้ำและเพิงผา โดยมีการพบเครื่องมือ เครื่องใช้และหลักฐานของมนุษย์สมัยหินอยู่ทั่วไป เช่น ขวานหิน ภาชนะดินเผา ภาพเขียนสีตามผนังถ้ำ
การตั้งหลักแหล่งของบรรพบุรุษในภาคใต้
ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณคาบสมุทรมลายูเล็กน้อย เพื่อจะได้ทราบถึงพัฒนาการของมนุษย์เป็นพื้นฐาน ก่อนที่จะถึงเรื่องราวของเมืองตะกั่วป่า หลักฐานทางโบราณคดีบนคาบสมุทรแห่งนี้ พอจะบอกเราได้อย่างกว้าง ๆ ว่า มนุษย์ในบริเวณคาบสมุทรมลายู มีชีวิตเร่ร่อนอยู่แล้ว ไม่ต่ำกว่า 5,000 ปีมาแล้ว ผู้คนเหล่านี้อาศัยอยู่ในถ้ำและเพิงผา โดยมีการพบเครื่องมือ เครื่องใช้และหลักฐานของมนุษย์สมัยหินอยู่ทั่วไป เช่น ขวานหิน ภาชนะดินเผา ภาพเขียนสีตามผนังถ้ำ
ครั้นถึงสมัยโลหะ จนกระทั่งถึงสมัยต้น ๆ ของสมัยประวัติศาสตร์ เป็นสมัยที่มนุษย์เริ่มมีการตั้งหลักแหล่งถาวร รวมกันอยู่เป็นชุมชน ในกรณีนี้ลักษณะและสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ เช่นลักษณะพื้นที่ ความอุดมสมบูรณ์ เรื่องของลมฟ้าอากาศ มีอิทธิพลต่อการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มากทีเดียว เพราะมนุษย์ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยในการผลิตอาหาร ในกรณีของภาคใต้ต้องแบ่งลักษณะสภาพแวดล้อมเหล่านี้ออกเป็น 2 ส่วน คือ ชายฝั่งทะเลตะวันออก มีที่ราบกว้างขวาง พื้นดินอุดมสมบูรณ์ คลื่นลมไม่ค่อยรุนแรง เหมาะแก่การเพาะปลูก จึงเป็นปัจจัยให้ผู้คนจากแหล่งต่าง ๆ เคลื่อนย้ายเข้าไปตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรเป็นจำนวนมาก สามารถพัฒนาเป็นชุมชนและเมืองใหญ่ในโอกาสต่อมา ส่วนชายฝั่งทะเลตะวันตก มีชายฝั่งที่เว้า ๆ แหว่ง ๆ สูงชันจากการยุบตัวของเปลือกโลก คลื่นลมมีความรุนแรง มีอ่าวกำบังคลื่นลมได้ไม่กี่แห่ง แม่น้ำสายสั้น ๆ มีค่อยมีที่ราบ พื้นที่ขาดความอุดมสมบูรณ์และไม่เหมาะกับการเพาะปลูก สภาพชายฝั่งทะเลตะวันตกจึงไม่เอื้อต่อการตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งถาวร ดังนั้นในสมัยโลหะจึงมีมนุษย์ตั้งถิ่นฐานอยู่น้อย
อย่างไรก็ตาม ชายฝั่งทะเลตะวันตกก็มีปัจจัยบางประการที่เกื้อหนุนให้มนุษย์เข้าไปตั้งถิ่นฐานในสมัยประวัติศาสตร์ คือ
– ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เช่น ป่าไม้ แร่ธาตุ โดยเฉพาะแร่ดีบุก
– ทิศทางลมที่สามารถแล่นเรือติดต่อกับดินแดนที่มีความเจริญทางตะวันตกได้ดี เช่น อินเดีย ลังกา อาหรับ เป็นต้น
ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ทำให้นักผจญภัย พ่อค้า หรือผู้อพยพลี้ภัย เข้ามาตั้งหลักแหล่งเพื่อเป็นจุด พักสินค้า เติมน้ำและเสบียง รวมทั้งใช้เป็นเส้นทางลัดข้ามคาบสมุทรไปยังฝั่งทะเลตะวันออก
ตะกั่วป่าสมัยก่อนประวัติศาสตร์
ในบริเวณลุ่มแม่น้ำตะกั่วป่า จากอำเภอกะปง อำเภอตะกั่วป่า จนกระทั่งถึงปากแม่น้ำตะกั่วป่า เคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์มาก่อนแล้ว โดยปรากฎหลักฐานร่องรอยของมนุษย์สมัยหินใหม่เข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณเชิงเขา และลุ่มแม่น้ำที่น้ำท่วมไม่ถึง หลักฐานที่พบส่วนใหญ่เป็นขวานหินชนิดต่าง ๆ ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการสับ ตัด ล่าสัตว์ พบหินทุบเปลือกไม้เพื่อทำผ้า แต่ไม่ปรากฏว่าพบภาชนะดินเผาในบริเวณอำเภอตะกั่วป่าเลย บริเวณที่พบเครื่องมือ เครื่องใช้เหล่านี้ได้แก่
– บริเวณเชิงเขาบางเตา บ้านต้นส้มนาว บ้านพรุเตียว บ้านสะพานพระ ตำบลบางนายสี
– บริเวณบ้านน้ำเค็ม แหลมป้อม บ้านบางหลุด ตำบลบางม่วง
– บริเวณเชิงเขาบ้านตำตัว มุดชัน ตำบลตำตัว
– บริเวณเชิงเขาม้าหมัง บ้านในปิ ตำบลบางไทร
– บริเวณบ้านช้างเชื่อ ตำบลช้างเชื่อ อำเภอกะปง
– บริเวณบ้านควนถ้ำ บ้านทับกำ ตำบลบางนายสี
– น่าจะพบในบริเวณอื่น ๆ อีก แต่ผู้เขียนยังไม่พบหลักฐาน
จากหลักฐานดังกล่าวข้างต้น จึงพอสรุปได้ว่า มีมนุษย์สมัยหินใหม่ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาก่อนแล้วไม่ต่ำกว่า 5,000 ปี
ในสมัยโลหะ ซึ่งเป็นสมัยที่มนุษย์เริ่มตั้งหลักแหล่งถาวร อยู่กันเป็นชุมชน รู้จักการเพาะปลูก ยังไม่พบร่องรอยและหลักฐานใด ๆ ที่บ่งบอกว่า มนุษย์สมัยโลหะได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการตั้งถิ่นฐานดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
อย่างไรก็ตามคงจะมีพวกกลุ่มชนเชื้อชาติ Negreto แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ที่อพยพเข้ามาในบริเวณตะกั่วป่า โดยกลุ่มหนึ่งอพยพเข้ามาอยู่ในบริเวณที่สูงตามป่าเขา แต่พวกนี้เร่ร่อน ไม่อยู่เป็นหลักแหล่งและมีจำนวนน้อย ปัจจุบันชนกลุ่มนี้ได้อพยพเข้าป่าลึกลงไปทางตอนใต้แถวจังหวัดตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาส พวกนี้เรียกว่า เซมัง (Semang) และซาไก (SaKai) และอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นชนชาติมอญ จากพะโค อพยพเข้ามาอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลและเกาะต่าง ๆ คนกลุ่มนี้เรียกว่า เซลัง (Selang) หรือ (Salon) พวกนี้มีความชำนาญในการดำน้ำและเรื่องทะเล จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าชาวน้ำ (C’hau Num) อาจรวมถึงพวก มอเกล็น (Moklen) บรรพบุรุษของชาวเลในอำเภอท้ายเหมือง และอำเภอตะกั่วป่า และพวก มอเก็น (Moken) บรรพบุรุษของชาวเลในหมู่เกาะสุรินทร์ ปัจจุบันนี้