อำเภอตลาดใหญ่
เมืองตะกั่วป่า
วันที่ ๒๑ เมษายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๘
เมื่อคืนนั้นนอนในเรือเย็นสบายดีพอใช้ แต่การนอนในเรือเสียที่จำเป็นต้องตื่นแต่เช้านัก เมื่อเช้านี้ดูเหมือนพอรุ่งผมก็ต้องตื่น นอกจากคนหนูหนวกเห็นจะทนนอนอยู่ไม่ได้ ดูเหมือนพอแดดขึ้นคนสักสามร้อยคนก็ตื่นลุกขึ้นเดินกันเล่น เสียงคึกคัก ๆ พิลึก แต่การที่ต้องตื่นเช้าเช่นนั้น ก็ไม่สู้จะเป็นที่เดือดร้อนอะไรนัก อย่างไร ๆ ก็ต้องตื่นอยู่แล้ว เพราะการที่จะเสด็จขึ้นมาประพาสที่ตำบลตลาดใหญ่นี้ ต้องเลือกเวลาที่น้ำขึ้นเรือจึงจะขึ้นมาถึงได้
อำเภอตลาดใหญ่
เมืองตะกั่วป่า
วันที่ ๒๑ เมษายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๘
เมื่อคืนนั้นนอนในเรือเย็นสบายดีพอใช้ แต่การนอนในเรือเสียที่จำเป็นต้องตื่นแต่เช้านัก เมื่อเช้านี้ดูเหมือนพอรุ่งผมก็ต้องตื่น นอกจากคนหนูหนวกเห็นจะทนนอนอยู่ไม่ได้ ดูเหมือนพอแดดขึ้นคนสักสามร้อยคนก็ตื่นลุกขึ้นเดินกันเล่น เสียงคึกคัก ๆ พิลึก แต่การที่ต้องตื่นเช้าเช่นนั้น ก็ไม่สู้จะเป็นที่เดือดร้อนอะไรนัก อย่างไร ๆ ก็ต้องตื่นอยู่แล้ว เพราะการที่จะเสด็จขึ้นมาประพาสที่ตำบลตลาดใหญ่นี้ ต้องเลือกเวลาที่น้ำขึ้นเรือจึงจะขึ้นมาถึงได้
เวลาเช้าจวน ๔ โมง เสด็จลงเรือดำรงรัฐจากเรือถลาง แล่นขึ้นมาตามลำน้ำ มาในระหว่างเกาะ ซึ่งมีเรียงรายอยู่ทั้งสองข้าง ผมได้ยินเจ้าคุณเทศาท่านว่ามีดีบุกแทบทุกเกาะแต่ไม่มีใครได้ร่อนเพราะไม่คุ้มโสหุ้ยที่จะต้องเสีย เรือเดินมาได้ประมาณชั่วโมงครึ่ง ถึงที่ลำน้ำแคบและตื้นต้องเปลี่ยนเรือ เสด็จลงเรือมาดแจว คนอื่น ๆ ก็ลงเรือเล็ก พ่วงท้ายเรือกลไฟเล็กซึ่งมาจากเมืองระนอง พอมาได้สักหน่อยถึงตำบลย่านยาว ลำน้ำย่านนี้ตรงไปยาวกว่าแห่งอื่น มีเรือมาดราษฎรพายออกไปรับเสด็จ คนพายแต่งกายประดับประดาหรู มีฆ้องตีทุก ๆ ลำเป็นจังหวะพาย คนพายได้โห่รับเสด็จและพายแซงเรือที่นั่งมา จนถึงวังบราแก้เชือกเรือพระที่นั่งจากเรือกลไฟ เรือพายเข้าโยงแทน โยงทั้งเรือพระที่นั่งและเรือที่ตามเสด็จ พายพร้อม ๆ กัน ร้องเพลงพลางช่างน่าสนุกจริง ๆ เรือแล่นฉิวเท่า ๆ กับพ่วงเรือไฟ ลำน้ำตั้งแต่วังบราขึ้นมาเรือไฟเล็กก็มาไม่ได้เพราะเป็นหาดทั้งนั้น ถ้าเวลาน้ำลงแม้เรือพายก็เดินไม่ได้ เพราะเหตุนี้เมืองจึงต้องเลื่อนลงไปตั้งต่ำลงไปอีกมาก
เวลาราวบ่ายโมงถึงท่าเสด็จขึ้นทรงพระเก้าอี้หามขึ้นมาพลับพลาทางประมาณ ๒๐ เส้น ขึ้นจากท่าผ่านไปริมกำแพงบ้านพระยาตะกั่วป่าเก่าซึ่งชำรุดทรุดโทรมหมดแล้ว ทางข้างซ้ายถนนที่ดินยังเป็นที่ลุ่มแลเห็นได้ว่าเป็นลำน้ำเก่า มีหม้อเรือไฟของพระยาตะกั่วป่าทิ้งอยู่หม้อหนึ่ง ซึ่งเป็นพยานปรากฏอยู่ว่าแม่น้ำได้เคยขึ้นมาถึงตรงนั้น ทำให้เห็นได้ว่าการทำลายเขาทำเหมืองขุดดีบุกเป็นอันตรายแก่ลำน้ำมาก พ้นบ้านพระยาตะกั่วป่าไปถึงตลาด มีตึกแถวอย่างจีนอยู่สองข้างถนน ตึกเหล่านี้เวลานี้อยู่ข้างจะชำรุดทรุดโทรมมาก ต่อตลาดไปก็มีบ้านเรือนตลอดมา จนถึงเชิงเขาที่ตั้งพลับพลา พลับพลาตั้งอยู่บนยอดเขา เป็นที่สบายดี มีลมเย็น ต้นไม้ร่มรื่นจำเริญตา ส่วนพลับพลาก็ทำเครื่องไม้อย่างแข็งแรง ฝาบัดนี้เป็นแผง แต่ต่อไปพระเสนานุชิตจะเปลี่ยนฝาและรักษาไว้เป็นเรือนที่พักต่อไป น้ำใช้ที่นี่อยู่ข้างจะบริบูรณ์และเป็นน้ำดีจืดสนิท พระเสนานุชิตได้จัดการทำท่อไม้ไผ่ไขน้ำมาจากเขาอีกลูกหนึ่งข้ามมาใช้ที่เขาพลับพลานี้
ที่ตลาดใหญ่นี้รู้สึกว่าเป็นเมืองมากกว่าที่เมืองใหม่ ซึ่งได้ขึ้นไปดูเมื่อคืนนี้ ที่นี่ตึกกว้านบ้านช่องก็มีมากกว่า ผู้คนก็ดูแน่นหนา ที่เมืองใหม่นั้นช่างดูสมชื่อจริง ๆ คือมีตะกั่ว (ดีบุก) ทั่วไปทั้งเกาะ และส่วนป่าก็เห็นอยู่มากกว่าบ้าน เมื่อคืนนี้เวลาที่ประทับอยู่จวนผู้ราชการได้ยินเสียงกวางร้องอยู่ในป่า ได้ยินถนัดทีเดียวจึงเข้าใจได้ว่าป่าอยู่ใกล้มาก สมควรแล้วที่จะเรียกว่าเมืองตะกั่วป่า
วันนี้ไม่ได้เสด็จแห่งใด ก็ดีเพราะฝนตกและฟ้าร้องครืน ๆ อยู่ หมู่นี้อยู่ข้างจะร้อนอ้าวมาหลายเวลาแล้ว ใต้เท้ากรุณากล่าวขึ้นว่าฝนคงจะตกเป็นแน่ ทูลกระหม่อม รับสั่งว่าถ้าฝนไม่ตกจริง จะต้องให้ใต้เท้ากรุณาขี่สิงโต (คือการลงโทษตามแบบลงโทษโหรที่ทำนายผิด) แต่ใต้เท้ากรุณาทูลขอผัดเรื่อย ๆ มาจนบ่ายวันนี้ฝนตกมากหน่อย ท่านก็เลยกราบบังคมทูลขอให้นับว่าเอาเป็นทำนายถูกแล้ว ขอให้พ้นการที่จะต้องขี่สิงโต ก็ทรงตกลงยอมตามคำท่านกราบทูลขอ
การมหรสพที่นี่อยู่ข้างจะบริบูรณ์กว่าทุก ๆ แห่งที่มีมาแล้ว มีมโนราห์ ๔ โรง หนัง ๔ โรง เพราะฉะนั้นผมไม่จำจะต้องบอกว่าอยู่ข้างจะกึกก้องโกลาหลอยู่บ้าง การที่มีมหรสพมากเช่นนี้เป็นพยานอยู่ว่าเมืองตะกั่วป่าเก่านี้เป็นเมืองที่มีความจำเริญ (สิวิไลซ์) พอใช้
พูดถึงความจำเริญผมลืมเล่าไปในจดหมายฉบับก่อนว่าเมืองระนองนั้นอยู่ข้างจะ “สิวิไลซ์” พอใช้อยู่ มีสิ่งซึ่งเป็นพยานอยู่คือที่ตลาดมี “สาวสวรรค์กัลยาเป็นเข้าบาทบำเรอปวงเทวราชทุกราศี” (คำกลอนผมแก้เอง) ผ่านไปทางตลาดได้เห็น “นวลละออผ่องพักตร์ลักขณา ดังจันทราทรงกลดหมดมลทิน” (ที่ว่าหมดมลทินนั้น กลอนพาไปขออย่าได้ถือว่าเป็นความจริง) นี่จะไม่นับว่าเมืองระนองสิวิไลซ์หรือ แต่ยังไม่สิวิไลซ์เท่ากรุงเทพฯ วิมานสาวสวรรค์ยังไม่มีประทีปมรกตแขวนข้างหน้า หรือนี่จะเป็นพยานว่าสิวิไลซ์กว่ากรุงเทพฯกระมัง ที่ตลาดใหญ่นี้บางทีจะมีวิมานสาวสวรรค์บ้างแต่วันนี้ผมยังไม่มีโอกาสสืบ ในการเช่นนี้คิดถึงคุณหลวงไชยประสิทธิ์จริง ๆ ถ้าท่านได้ตามเสด็จมาด้วย ท่านคงจะเป็นธุระสืบสวนเรื่องนี้อย่างแข็งแรงเป็นแน่
วันที่ ๒๒ เมษายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๘
เมื่อคืนนี้ผมนอนสบายพอใช้ ฝนตกลงมาแล้ว ตอนกลางคืนมีลมพัดเย็นเรื่อย นอนคลุมผ้าบาง ๆ ผืนหนึ่งพอสบายช่างผิดกับที่เมืองใหม่เสียจริง ๆ วันนี้เช้าผมตื่นขึ้นยังรู้สึกเย็นสบายดีอยู่อีก
เวลาเช้า ๓ โมงเศษเสด็จออกจากพลับพลาโดยกระบวนเก้าอี้หาม เก้าอี้ทรงผูกแปด คนหามสวมกางเกงผ้าขาวเสื้อผ้าแดง หมวกกุเล้ยจีนมีใบไม้ใบหญ้าประดับหรูหราเก้าอี้ของข้าราชการผูกสี่คนหามแต่งตามชอบใจ พวกที่หามเก้าอี้นั้นนอกจากเป็นคนไทย ๆ มีที่เป็นจีนก็มี เป็นแขกก็มี แต่พวกจีนพวกแขกเหล่านี้ชอบกล จีนพูดไทยดีกว่าภาษาจีน และแขกพูดมลายูไม่เป็น ใต้เท้ากรุณาท่านเล่าว่าเมื่อคืนนี้มีแขกคนหนึ่งไปจุดโคมไฟที่เรือนที่พักของท่าน ได้ความว่าชื่อแขกอาจ พูดภาษามลายูไม่เป็นสักคำเดียว ผมทราบว่าในมณฑลนี้มีแขกชนิดแขกอาจนี้มาก คือที่จริงตัวก็เป็นไทยแท้ ๆ แต่ไปชอบใจลูกสาวแขก ถ้าไม่แปลงไปถือตามเขา ๆ ก็ไม่ยกลูกสาวให้ จึงต้องเลยเป็นแขกตามเขาไป เพราะฉะนั้น เจ๊ะเขียว เจ๊ะแดง เจ๊ะขาว เจ๊ะดำ อะไรต่าง ๆ จึงเกิดมีมากขึ้น การชักชวนคนให้เข้าถือศาสนาด้วยวิธีนี้ก็ดีอยู่บ้าง เพราะฉะนั้นพวกคริสตังตามเมียไปเช่นนี้ก็มีมิใช่น้อย การตกปลาหรือดักหนูถ้าจะให้ติดแน่ก็ต้องใช้เหยื่อที่ปลาหรือหนูนั้นชอบฉันใด การตกเบ็ดผู้ชายก็ต้องใช้ผู้หญิงเป็นเหยื่อฉันนั้น ข้อนี้ไม่ใช่พึ่งมารู้กันขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ก็รู้กันและใช้วิธีนี้กันมาแต่ไหน ๆ และไม่ใคร่จะมีเสียการเลย ถ้าการใดผู้ชายจะจัดไปให้ตลอดไม่ได้คงต้องอาศัยอาศัยผู้หญิงช่วยทั้งนั้น
นี่ผมก็พูดเพ้อเจ้อนอกเรื่องมามากแล้ว ต้องจับเรื่องต่อไปอีกที ออกจากที่พลับพลาประทับแรมเดินลงไปทางตลาดแต่หาตรงลงไปอย่างไปท่าน้ำไม่ เลี้ยวไปเสียทางขวา เดินไปทางตะวันออกเรื่อย พอพ้นตลาดก็หมดถนนมีแต่ทางตัดไปตามในป่าละเมาะและทุ่ง เป็นทางงามดี แต่แดดอยู่ข้างจะร้อนข้ามคลองหลายแห่ง แต่ล้วนตันเสียเพราะทรายเหมืองไหลลงมาเต็มเสียหมด การทลายเขาลงมาเพื่อทำเหมืองขุดแร่นี้ทำให้เสียประโยชน์มาก ตามริมน้ำตะกั่วป่าเดิมเคยมีบ้านคนอยู่ราย ๆ ไป และทราบว่าทำไร่ทำนาทำสวนได้ดี บัดนี้ทรายไหลลงมาถมคลองตัดทางน้ำเดินเสียหมด แล้วยังไหลไปท่วมที่นาที่สวนทำการเพาะปลูกไม่ได้ เพราะฉะนั้นราษฏรต้องยกบ้านหนีไปแห่งอื่นเสียมาก ราษฏรในเมืองตะกั่วป่านี้ผมทราบว่าพากันไปรับจ้างทำเหมืองเสียหมดไม่ใคร่จะทำนาทำไร่ ได้เงินมาก็ซื้อกิน แต่ไม่หยุดอยู่เพียงซื้อกิน ซื้อยาฝิ่นสูบด้วย ข้อนี้เป็นการไม่ดีอย่างยิ่ง การทำเหมืองนั้นเองเล่าก็ไม่เป็นทางหากินที่ยั่งยืน พอเหมืองที่ตนทำนั้นหมดแร่ก็ลงคว้าง ไม่มีอะไรทำและเมื่อไม่มีอะไรทำก็ต้องอดเท่านั้น ถ้าไม่ยากอดก็ต้องคิดทำการหากินโดยทางไม่ชอบธรรมต่าง ๆ ผมทราบว่าเจ้าคุณเทศากำลังคิดจะแก้ไขเรื่องนี้ คือจะคิดจัดการให้ราษฏรกลับทำไร่ทำนาอีก หวังใจว่าจะสำเร็จได้ตามความคิดของท่าน
ตามระยะทางที่ไปวันนี้ได้ผ่านหมู่บ้านไปหลายหมู่ พอถึงบ้านพวกหามได้หยุดพักกินน้ำบ้าง ผมช่างนึกโล่งแทนจริง ๆ เดินไปร้อนเหงื่อโชก ๆ แต่ผมที่นั่งไปบนเก้าอี้ยังร้อนพอแรงการทางก็มิใช่ใกล้ จากพลับพลาที่ประทับแรมนี้ไปถึงพลับพลาประทับร้อนที่เขาเวียงระยะทางถึง ๒๖๗ เส้น ที่ประทับร้อนนี้อยู่ในแขวงอำเภอกะปง นายอำเภอได้ทำพลับพลารับเสด็จเข้าแบบโรงนาอีก เย็นสบายดี มีผู้คนมาคอยเฝ้ารับเสด็จอยู่มาก กำนันคนหนึ่งกับผู้ใหญ่บ้านอีก ๒ คน ได้จัดเครื่องถวายอยู่ข้างจะเก่ง กำนันผู้ใหญ่บ้านจัดเครื่องถวายไม่ใคร่จะเคยพบและพวกที่ตามเสด็จออกจะพากันหาร ๆ แต่ครั้นไปถึงที่แล้วก็มีเครื่องเลี้ยงจริง แต่ว่าใครจะได้อุดหนุนบ้างหรือไม่ผมไม่ทราบ กำนันและผู้ใหญ่บ้านที่จัดเครื่องนั้น ท่านเจ้าเมืองได้นำเฝ้า เป็นจีนทั้ง ๓ คน ท่าทางดูก็ดี
เขาพระนารายณ์ (เขาเวียงในจดหมายเหตุ)
ฐานที่ตั้งองค์พระนารายณ์และเทพบริวารบนเขาพระนารายณ์ (หลังขุดแต่ง ปี 2552)
สิ่งที่สำคัญที่เสด็จไปทอดพระเนตรวันนี้ คือพระนารายณ์เทวรูป ซึ่งตั้งอยู่บนเนินที่ทำพลับพลาประทับร้อน เทวรูปมีอยู่ 3 องค์ เป็นรูปพระนารายณ์ตั้งอยู่กลาง ข้างขวามือมีเป็นรูปเทพธิดานั่ง ซึ่งบางทีจะเป็นพระลักษมีข้างซ้ายมือมีอีรูปหนึ่ง แปลไม่ออกว่าเป็นรูปพระเป็นองค์เจ้าใด เทวรูปทั้ง 3 นี้ทำด้วยศิลา สลักเครื่องทรงดูเป็นอย่างแบบข้างอินเดียแท้ จึงเข้าใจว่าคงจะเป็นนายช่างข้างฝ่ายมัชฌิมประเทศเป็นผู้ทำ หรืออย่างน้อยก็เป็นผู้ให้อย่าง เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่าชาวมัชฌิมประเทศได้ออกมาตั้งเป็นคณะอยู่ที่นี้ จะสืบเอาเรื่องราวก็ไม่ได้กี่มากน้อย คงได้ความแต่ว่าเทวรูปนี้เดิมอยู่บนเขาเวียง บนนั้นยังมีฐานก่อด้วยอิฐปรากฏอยู่ ครั้นพม่ามาตีเมืองไทยได้ลงมาที่เขาเวียง ยกเทวรูปลงมาได้ถึงที่เนินนี้ ตั้งใจจะนำลงไปทางแม่น้ำ เผอิญเกิดฝนตกลงมาเป็นห่าใหญ่ พม่าจึงต้องทิ้งเทวรูปไว้ หนีเอาตัวรอด และโดยเหตุที่พม่าได้ให้หลังที่ตรงนี้ จึงได้เรียกนามตำบลว่าหลังพม่าต่อมา รูปพระนารายณ์ในเวลานี้ต้นตะแบกได้ขึ้นหุ้มห่อไว้เสียหน่อยหนึ่ง ชะรอยจะมีผู้พิงทิ้งไว้กับต้นตะแบกตั้งแต่ยังอ่อน ๆ ครั้นต้นไม้นั้นโตขึ้นจึงเลยขึ้นหุ้มเทวรูป น่าเสียดายที่สืบข้อความสาวขึ้นไปได้สั้นนัก ที่ริมรูปนั้นมีศิลาแผ่นหนึ่งมีตัวอักษรจารึก แต่อ่านไม่ออกว่าเป็นหนังสืออะไร ไม่ใช่หนังสือไทย และไม่ใช่หนังสืออย่างที่จารึกคาถาเยธัมมาที่พระปฐมเจดีย์ ศิลาแผ่นนี้ราษฎรถือกันว่าถ้ายกฝนเป็นต้องตก วันนี้คงจะมีใครยกเป็นแน่ เพราะพอเสด็จถึงพลับพลาสักครู่หนึ่งฝนก็ตก อยู่ข้างจะศักดิ์สิทธิ์อยู่บ้าง แต่เพราะไม่มีใครได้พยายามจะยกพระนารายณ์ไป ฝนจึงไม่ตกจนน้ำท่วมอย่างครั้งพม่ายก
เทวรูปที่พม่าพิงไว้ที่ต้นตะแบกฝั่งตรงข้ามเขาพระนารายณ์
ขากลับเสด็จทางเรือ ทรงเรือมาดถ่อล่องตามลำน้ำตะกั่วป่า โดยมากน้ำตื้น ๆ แต่มีบางแห่งเป็นวัง พวกคนถ่อกล่าวว่ามีจระเข้ แต่ก็หาได้มีใครเห็นไม่ เห็นแต่จระเข้นานั้นและมาก เสด็จถึงท่าแล้วทรงพระเก้าอี้หามขึ้นมาที่พลับพลาประทับอยู่ที่นี้อีกคืนหนึ่ง
download pdf
จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.๖ ตอนที่ 1